โครงการ เครือข่ายชุมชนปลอดภัย  
     
  การรวบรวมผู้แทนชุมชน 28 แห่ง จาก โครงการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และเด็กไทยปลอดภัยของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย
เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการจัดการความปลอดภัยโดยชุมชนท้องถิ่น 1-2
และรวมเป็น เครือข่ายชุมชนปลอดภัย
 
     
  ผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนในการจัดการความปลอดภัย พบว่า
ชุมชนมีสภาพปัญหาหลากหลายตามพื้นที่ มีทั้งภัยธรรมชาติ
เป็นภัยที่มนุษย์ไม่ได้สร้าง และควบคุมไม่ได้ เช่น
น้ำท่วม สึนามิ วาตภัย โคลนถล่ม ไฟป่า ไฟแล้ง หมอกควัน
และภัยที่เกิดจากมนุษย์สร้าง เช่น อุบัติเหตุจราจร จมน้ำ สารเคมี
สถานที่อาคาร น้ำเน่าเสีย ขยะเป็นพิษ รวมทั้งภัยทางสังคม เช่น
ยาเสพติด การมั่วสุม การละเมิดทางเพศ อาชญากรรม ครอบครัวแตกแยก การทำร้ายร่างกาย
 
     
 

โดยชุมชนมีแนวคิดในการจัดการชุมชนปลอดภัย 2 มิติ คือ
มิติคุ้มครอง- ดูแล และมิติป้องกัน- รักษา การคุ้มครองดูแล
เป็นระบบสมาชิกที่สมาชิกของกลุ่ม องค์กรในชุมชน เช่น
กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชนกลุ่มสตรี กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

โดยให้การช่วยเหลือดูแลเมื่อสมาชิกประสบปัญหาขึ้น ส่วนการป้องกันรักษา
เป็นระบบอาสาสมัคร ที่สนใจแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของชุมชน เช่น
ปัญหาจราจร ภัยธรรมชาติ โคลนถล่ม ไฟป่า ยาเสพติด การมั่วสุม การละเมิดทางเพศ
ปัญหาวัยรุ่น ด้วยการหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้น
มีการเตรียมพร้อม รวมทั้งการฟื้นฟูหลังจากเกิดเหตุ
ดังนั้นจึงต้องผสมผสานทั้ง 2 มิติเข้าด้วยกัน
โดยการจัดการความปลอดภัยในชุมชนควรเป็นสวัสดิการชุมชน

 
     
 
     
  แนวทางของชุมชนของการจัดความปลอดภัย  
  1.มีอาสาสมัครหรือคณะทำงานรับผิดชอบตามกิจกรรมปัญหา  
  2.เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน  
  3.เน้นการใช้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น ประยุกต์กับกิจกรรมแก้ไขปัญหา  
  4.เน้นการสร้างระเบียบ กติกาชุมชนมากกว่ากฎหมายภายนอก  
  5.จัดทำฐานข้อมูล องค์ความรู้ ฐานข้อมูล  
  6.สร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือ  
  7.เน้นการประสานกับหน่วยงานภายนอกโดยชุมชนเป็นผู้กำหนด  
     
 
     
  ลักษณะของกิจกรรมด้านความปลอดภัยของชุมชน  
     
  เป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับความรู้จากภายนอก เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน
ดังนั้น จึงมีกิจกรรมหลากหลายสอดคล้องกับปัญหาและสภาพแต่ละพื้นที่
ความร่วมมือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหา และสนับสนุนเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม
กิจกรรมใช้ทุนของชุมชน และพบบางชุมชนมีการบันทึกข้อมูล ทำสถิติเพื่อเปรียบเทียบผล
 
     
  ผลที่เกิดขึ้นชุมชนมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นทั้งในด้านการป้องกัน แก้ไข คุ้มครอง
และดูแล รวมทั้ง ชุมชนได้พัฒนาศักยภาพตนเองในการจัดการความรู้จากภายใน
และการประยุกต์ใช้ความรู้จากภายนอก ส่วนผลกระทบกิจกรรมความปลอดภัย
ได้รับความสนใจของประชาชนในชุมชน ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกอื่นต่อกิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการขึ้น
 
     
  นอกจากนี้ชุมชนเริ่มให้ความสนใจในการรวบรวมข้อมูล เก็บข้อมูล
และได้เรียนรู้การประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
ในการทำให้กิจกรรมบรรลุตามเป้าหมาย ได้ส่งเสริมให้มีคนรุ่นใหม่
และเยาวชน เข้ามาร่วมมากขึ้น รวมทั้งสร้างความคิดที่จะขยายไปสู่
ความปลอดภัยในเรื่องอื่น ๆ
 
     
 
     
 
  หลังจากการแลกเปลี่ยนบทเรียนการจัดความปลอดภัยของชุมชนท้องถิ่นแล้ว
จึงเห็นว่าควรได้กำหนดการทำงานและขับเคลื่อนชุมชนปลอดภัย ไว้ดังนี้
 
     
  สร้างนิยามของชุมชนปลอดภัย คือ
ชุมชนที่มีความสุขทั้งกายและใจ หมายถึง ชุมชนมีความสุขทั้งกายและใจ
ถ้าปราศจากภัยทุกชนิด โดยชุมชนต้องมีกติกาเดียวกัน มีความสามัคคี
มีส่วนร่วมในกิจกรรม มีผู้นำธรรมชาติ มีกรรมการบริหารกิจกรรม มีการทำแผนชุมชน
การประชุมอย่างต่อเนื่องและมีความร่วมมือกับภาคีหน่วยงานในท้องถิ่น
 
     
  กำหนดตัวชี้วัดกระบวนการทำงาน คือ
1.มีคณะทำงานความปลอดภัยชุมชน
2. ชุมชนมีเป้าหมายและแผนงานชัดเจน
3.มีกิจกรรมที่ตอบสนองเป้าหมายที่หลากหลาย
( ทั้งวัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด เยาวชน ผู้สูงอายุ)
4. มีเวทีประชุมหารือทุกเดือนของชุมชน
5. ชุมชนมีกติกาที่ถือปฏิบัติร่วมกัน
6. มีการทำงานร่วมกันของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
7. มีการบันทึก จัดเก็บข้อมูล สถิติการทำงานของชุมชน
8. มีเวทีประชุมเพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานของชุมชน
 
     
  ตัวชี้วัดความสำเร็จการดำเนินงาน คือ
1. คนในชุมชนได้รับการดูแลทั้งในรูปแบบตัวเงิน สิ่งของ น้ำใจ
2. สภาพแวดล้อมชุมชนสะอาด มีความปลอดภัย
3. สถิติอาชญากรรม และการลักขโมยลดลง
4. สถิติอุบัติภัย อุบัติเหตุที่เกิดจากคนในชุมชนลดลง
5. สถิติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการหย่าร้างลดลง
6. สถิติการเจ็บป่วยของคนในชุมชน ที่เกิดจากการบริโภคสินค้าและอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย มีมลพิษ ลดลง
7. จำนวนคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านกระบวนการทำงานและมีผลรูปธรรมความสำเร็จการดำเนินงาน
 
     
  โดยมีวิธีดำเนินการสู่ตัวชี้วัดชุมชนปลอดภัย
1. หาบุคคลหรือกลุ่มที่มีแนวคิด ทัศนคติเดียวกันเข้ามาทำงาน และขยายเครือข่าย
2. รณรงค์ขยายแนวคิด สร้างความตระหนักถึงปัญหาภัยในชุมชน โดยการประชาสัมพันธ์
3. เปิดเวทีประชุม เพื่อทำประชาคม จัดลำดับปัญหาเร่งด่วน
4. จัดทำแผนชุมชน กำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินงาน
5. ร่วมกันวิเคราะห์ หาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา
6. ดำเนินการแก้ไขปัญหา มีกิจกรรมนำร่องความปลอดภัยของชุมชน เช่น ค่าย อบรม โดยเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน
7. ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ที่ใช้ข้อมูลทั้งคุณภาพและปริมาณสนับสนุนกัน ข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อเปรียบเทียบ
 
     
 

แนวทางการสร้างและขยายชุมชนปลอดภัย เสนอให้ 28 ชุมชน
เป็นต้นแบบชุมชนปลอดภัยแท้จริงของการจัดการความปลอดภัย
มีการสร้างเครือข่ายจากชุมชนหนึ่งสู่ชุมชนหนึ่งในระดับท้องถิ่น
และกระจายออกไปเป็นระดับจังหวัด ภาค และเสนอให้มีคณะทำงานและ
กลไกเครือข่ายชุมชนปลอดภัยเป็นภาคีร่วมกัน รวมทั้งการจัดให้มีเวทีแลก
เปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ โดยที่มีการประสาน
และสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ กำลังคน และกิจกรรมจากหน่วยงานในท้องถิ่น
กลไกทำงานภาคชุมชน ต้องมีกลไกการทำงานสนับสนุนกันเอง

มีวิธีการติดตามและประเมินผลการทำงานของชุมชนอย่างต่อเนื่อง
และเวทีนำเสนอผลงานระดับชาติ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานชุมชนปลอดภัย
การผลักดันเชิงนโยบาย มีเป้าหมายผลักดันแนวคิดชุมชนปลอดภัยเป็นวาระชาติ
สนับสนุนให้มีกลไกชุมชนปลอดภัยระดับชาติ
สนับสนุนกลไกเครือข่ายชุมชนปลอดภัย
ทั้งงบประมาณและสร้างกำลังใจ เช่น รางวัลคุณภาพชุมชนปลอดภัย
ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น