หน้าหลัก  
 
 
ความเป็นมา
::
   
 
 
  อุบัติเหตุและความรุนแรงเป็นสาเหตุนำการเสียชีวิตในเด็กไทย ในแต่ละปีมีเด็กอายุ 1-14 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและความรุนแรงจำนวนกว่า 3,400 ราย คิดเป็นอัตราการตาย 22/100,000  
     
  เมื่อวิเคราะห์เด็กที่ตายจากการบาดเจ็บพบว่ารากเหง้าของปัญหามีสาเหตุหลักจากความยากจนและ
ความไม่เสมอภาคในสังคม เด็กในครอบครัวที่มีเศรษฐานะต่ำมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
ทั้งจากการได้รับการดูแลต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน การถูกทอดทิ้ง ละเลย การถูกทำร้าย
และการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง
ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดวงจรชั่วร้ายของการบาดเจ็บ พิการ ตาย
การสูญเสียความสามารถในการพัฒนาและเรียนรู้ และความยากจน
 
     
  ดังนั้นจะต้องมีการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยจากอุบัติเหตุและความรุนแรงในเด็ก
โดยมีเกณฑ์ความปลอดภัยขั้นต่ำที่เด็กทุกคนที่จะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ การฝึกทักษะ การดูแลปกป้อง
และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย รัฐ ชุมชน และครอบครัวจะต้องมีโลกทัศน์และค่านิยมในการยอมรับเกณฑ์ความปลอดภัยขั้นต่ำ
และลงทุนจัดสรรทรัพยากรเพื่อการสงเคราะห์เด็ก การคุ้มครองเด็ก การจัดสวัสดิการ และการจัดการสิ่งแวดล้อม
 
     
  ก่อนปี 2545 ปัญหาความไม่ปลอดภัยในเด็กนี้ได้ถูกสังคมมองข้ามทั้งในกลุ่มรับผิดชอบด้านการดูแลเด็กและ
ในกลุ่มผู้ดำเนินการด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลราธิบดีจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2545
เพื่อเป็นศูนย์วิชาการ และ บูรณาการเครือข่าย ด้านความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
และความรุนแรงในเด็ก โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ
 
 
 
1.ลดอัตราการตายและบาดเจ็บรุนแรงในเด็กไทยอายุน้อยกว่า 18 ปี
2.สร้างพฤติกรรมการจัดการจัดการความเสี่ยง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพฤติกรรมการดูแลคุ้มครองเด็ก และด้านพฤติกรรมเด็ก ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน หน่วยงาน และระดับนโยบายสังคม
 
 
     
  โดยในปัจจุบันได้มุ่งเป้าตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความปลอดภัยในเด็กตาม นโยบายโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ของรัฐบาลไทย ซึ่งกำหนดเวลาการบรรลุเป้าหมายในปี 2559  
     
 
 
 
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลราธิบดี
ได้ดำเนิน “ โครงการเด็กไทยปลอดภัย (SafeKids Thailand Program)”
ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งแต่ มีค 2546 – กพ 2551
ซึ่งที่ผ่านมาโครงการได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆดังนี้
     
1 การเฝ้าระวังความปลอดภัยในเด็ก (Child Safety Watch): ได้ดำเนินการ
  •การวิเคราะห์ฐานข้อมูลการตายจากอุบัติเหตุในเด็ก ปี 2542-2549
•ระบบการพิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก (CDR: child death review)
•ระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ (product related injury surveillance system)
•ระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน (community-school-daycare injury surveillance system)
 
2.การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ด้านการสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (Child Safety Research) ได้ดำเนินการวิจัยในเรื่องดังนี้
 

•เกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในเการเลี้ยงดูเด็กด้านความปลอดภัย
•การศึกษาทบทวนสถานการณ์และโครงสร้างพื้นฐาน ของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในเด็กและเยาวชน 2549
•อุบัติเหตุจราจร: หมวกนิรภัยในเด็ก หมวกนิรภัยอเนกประสงค์ เท้าเข้าซี่ล้อรถมอเตอร์ไซด์ ที่นั่งนิรภัยในเด็กและทารก หมวกนิรภัยในเด็กสำหรับจักรยาน: เก้าอี้เด็กเล็กป้องกันเท้าเข้าซี่ล้อถนนจักรยาน ถนนปลอดภัย (จุดเสี่ยงบนถนน การลดความเร็วในเขตชุมชนให้น้อยกว่า 30 กม/ชม) รถโรงเรียนปลอดภัย
•การป้องกันการจมน้ำ: สถานการณ์การจมน้ำในเด็กไทย และการจัดการความเสี่ยงต่อการจมน้ำในเด็กวัยต่างๆ (risk management) หลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำสำหรับเด็ก
•ความปลอดภัยในการเล่น: ของเล่นปลอดภัย สารตะกั่วในของเล่น ปืนฉีดน้ำปืนอัดลม ของเล่นวัตถุระเบิด สนามเด็กเล่นปลอดภัย สวนสนุกปลอดภัย
•ความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์: ของใช้ทารก รดหัดเดิน อันตรายจากตู้น้ำดื่มใช้ไฟฟ้า ความปลอดภัยในบ้าน: การจัดการความเสี่ยงในบ้าน อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยในบ้าน ประตูรั้ว

 
3.การสร้างกลยุทธการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อจัดการความปลอดภัยในเด็ก ได้ดำเนินการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างเครือข่ายระดับรากหญ้า (grass-root coalition) สร้างความรู้และทักษะแก่ชุมชนในการเฝ้าระวัง ค้นหาปัญหาและปัจจัยเสี่ยง วางแผน- ดำเนินการแก้ไขเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง สิ่งแวดล้อมเสี่ยง รวมทั้งการประเมินผลและขยายผลในระดับท้องถิ่น โดยดำเนินโครงการดังนี้
 

•ชุมชนปลอดภัย 28 ชุมชน
•โรงเรียนสร้างเสริมความปลอดภัย 20 โรงเรียน
•ศูนย์เด็กเล็กปลอดภัย 60 ศูนย์
•การสร้างมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยจัดตั้ง ชมรมเด็กไทยปลอดภัย 11 ชมรม

 
4.ได้เชื่อมโยงและสนับสนุนวิชาการแก่เครือข่ายทั้ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ผลิต องค์กรอิสระ และองค์กรพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บและความปลอดภัยในเด็ก ดังนี้
 

•จัดตั้งการประชุมสหวิทยาการเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ในคณะอนุกรรมการด้านเด็กและเยาวชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
•จัดตั้งการประชุมสหวิทยาการเพื่อป้องกันการบาดเจ็บในเด็กจากผลิตภัณพ์ ร่วมกับสคบ และสมอ
•ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการโครงการกรุงเทพร่วมใจเพื่อป้องกันอุบัติภัยในเด็ก ของกทม โดยมีรองผู้ว่าราชการ กทม เป็นประธาน
•ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพิเคราะห์เหตุการตาย กรุงเทพมหานคร ซึ่งมท่านอัยการสูงสุดคดีเด็กและเยาวชนเป็นประธาน
•เป็นหน่วยงานหลักในการเก็บข้อมูล ในคณะอนุกรรมการพิเคราะห์เหตุการตาย กรุงเทพมหานคร
•ร่วมดำเนินการในกรรมการวิชาการคณะที่ 972 มาตรฐานอุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องเล่นสนาม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป็นประธานกรรมการ
•ร่วมดำเนินการในกรรมการวิชาการมาตรฐานอุตสาหกรรมหมวกนิรภัย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป็นประธานกรรมการ
•ร่วมดำเนินการในกรรมการวิชาการมาตรฐานอุตสาหกรรมของเล่น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป็นประธานกรรมการ
•ร่วมดำเนินการ ในคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนเพื่อป้องกันอุบัติภัยและสาธารณภัย ใน คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ โดยเป็นทีมเลานุการ ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหลายกระทรวงและผู้นำชุมชน องค์กรท้องถิ่นเข้าสู่อนุกรรมการ และจัดการประชุมนานาชาติ ชุมชนปลอดภัย เชื่อมโยงชุมชนไทยสู่ชุมชนอื่นๆในระดับสากล
•ร่วมดำเนินการในอนุกรรมการสวัสดิศึกษา ใน คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาเป้นประธาน
•ร่วมดำเนินการในอนุกรรมการความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน ในศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน
•ร่วมดำเนินการในอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย ในศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน
•ร่วมดำเนินการในอนุกรรมการป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บ ในคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บกระทรวงสาธารณสุข
•ร่วมดำเนินการในคณะทำงานโครงการผลักดันกฎหมายสู่การปฏิบัติ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์

 
5 ได้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในด้านความปลอดภัยในเด็ก ดังนี้ี้
 

*ผลักดันและร่วมร่างมาตรฐานอุตสาหกรรม “อุปกรณ์เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น”
*ผลักดันและร่วมร่างข้อบัญญัติควบคุมเครื่องเล่นสวนสนุก ร่วมกับกรมโยธาธิการ ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
*ผลักดันให้มีการปรับปรุงและร่วมปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรม “หมวกนิรภัยเด็ก” และ “ของเล่น”
*ผลักดันและให้ความร่วมมือกับร่วมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ในการกำหนดข้อความฉลากเพื่อบังคับให้ผู้ผลิตแสดงต่อผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสิ่งอุปกรณ์ดังนี้ รองเท้าลูกล้อ เตาไมโครเวฟ รถหัดเดิน ตู้น้ำเย็น
*ผลักดัน พรบ.ความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์
*ผลักดัน และร่วมพิจารณาแก้ไข พรบ จราจรทางบก โดยให้จับปรับผู้ขับขี่เป็นสองเท่า หากผู้โดยสารไม่ใส่หมวกนิรภัย เพื่อให้เกิดการดูแลคุ้มครองผู้โดยสารเด็ก
*ร่วมร่างเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงดูเด็กเพื่อรองรับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์
*ร่วมผลักดันการตรวจจับเพื่อตักเตือน ผู้ปกครองที่นำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัยเด็ก ซึ่งตำรวจมักไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ ทั้งๆที่มีกฝำหมายบังคับอยู่แต่เดิมแล้ว

 
6 จัดตั้งฐานข้อมูลความรู้ โดยรวบรวมจากชุดโครงการวิจัยของศูนย์วิจัยเอง งานวิจัยอื่น ๆ ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ
ความรู้จากต่างประเทศ และนโยบายรัฐบาล (governmental policy) โดยให้หน่วยงานต่างๆสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ขณะนี้ได้เผยแพร่ความรู้ด้านความปลอดภัยในเด็กผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ และผ่าน www.csip.org และ www.safekids-thailand.com
 


 
เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเครือข่ายเดิมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดองค์ความรู้ในเรื่องใหม่
และการขับเคลื่อนเครือข่ายใหม่ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลราธิบดีจึงเสนอชุดโครงการปี 2551-2553
ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องงานชุมชนปลอดภัยสำหรับเด็ก และสร้างประเด็นร้อนใหม่ในการขับเคลื่อนเครือข่ายให้มีการบูรณาการงานความปลอดภัยในเด็ก